ดาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความเด็ดเดี่ยว มีเหตุผลของตัวเองในการตัดสินใจไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คุณอาจเป็นคนที่มีความตั้งใจมากเวลาทำสิ่งต่าง ๆ และเสียงของคนอื่นไม่ค่อยมีผลกับคุณมากนัก คุณยังเป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการพูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องใดก็สามารถทำให้คนสนใจคุณได้เสมอ คุณโน้มน้าวให้คนรอบข้างรู้สึกเชื่อในสิ่งที่คุณเชื่อได้ ดาเองก็เช่นกัน เธอคนนี้เหมือนคุณ และเธอคนนี้รู้ว่า 112 อันตรายยังไง เธอเหมือนคุณ แต่เธอเลือกเส้นทางที่ต่างจากคุณ
เราจบปริญญาตรีด้านการเมือง การปกครอง เชื่อไหมว่าที่แรกที่เราไปสมัคร คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นเขาจะส่งเราไปเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคที่ภาคใต้ ทางบ้านไม่ให้ไป ก็เลยไปสมัครที่ วัฏจักร
เป็นนักข่าวการเมือง จนเกิดเรื่อง Mexico Crisis ตอนนั้นไม่มีคนไปทำข่าวแบงค์ชาติ เขาส่งเราไปที่นั่นชั่วคราว แต่ปรากฏอยู่ที่นั่นตั้ง 7 ปี ตอนลดค่าเงินบาทก็เจออยู่ตรงนั้น ทำข่าวลดค่าเงินบาท
ชอบอ่านและชอบซื้อหนังสือ บางทีเห็นก็ซื้อไว้ก่อน มีเป็นพันเล่ม แต่ตอนนี้ไม่รู้มันไปไหนแล้ว เมื่อก่อนชอบอ่านงานวิชาการทั่วไป เรื่องเกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่ช่วงหลังๆ ก่อนขึ้นเวที อ่านงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่ได้อ่านทุกเล่ม อ่านแค่บางเล่ม
คนที่มาฟังคือชาวบ้าน ไม่ใช่พวกนักวิชาการ การที่คุณขึ้นไปแล้วพูดแบบเรียบร้อย มันไม่ฮือฮา พอเราด่าปุ๊บ คนจะ เฮ้ เฮ้ เฮ้ เราก็มีความรู้สึกว่าเขาสนใจแบบนี้
พี่ชอบอ่านหนังสือ พี่ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองในอดีตที่พี่อ่าน สมัยคณะราษฎร พี่เป็นนักข่าวก็จะมีข่าวการเมืองที่พี่อยู่สภา อยู่กรรมาธิการ เอามาเล่าให้พวกเขาฟัง
วันหนึ่งพี่จะซื้อหนังสือพิมพ์ 200 กว่าบาท เห็นไหม ทรหดไหม สู้อย่างนี้ทุกวัน เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง พูดตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม
ดา เป็นผู้ลิขิตความคิดของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร เขาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่น่าจะมีพิษสง และอิทธิพลใด ๆ ที่จะไปปลุกมวลชน เราเคารพในความเป็นตัวเองของเขา
ถ้าถามเขาก็บอกไม่ใช่ นปช. เขาเป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่มีความคิดเป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนคนทั่วไปเลย และเป็นอิสรชนจริงๆ ที่ไม่ก้มหัวให้ใคร
ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
ขอให้ได้สู้ และแสดงเจตนารมณ์ เราไม่สนว่าส่วนใหญ่จะประณามเรา เราไม่แคร์ เพราะเราไม่ได้ออกมาเพื่อเอาใจคุณ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าชีวิตฉัน คุก หรืออะไร ฉันรับผิดชอบตัวฉันเอง
22 กรกฎาคม 2551
ตำรวจนำหมายศาลบุกเข้าจับกุมตัวดารณีที่หอพักสตรีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จากการปราศรัยที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 3 ครั้ง
ใครก็ตามที่เดินทางเข้ามาสู่เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนพบกับความเจ็บปวดหลากหลายรูปแบบ บางคนสูญเสียชีวิต บางคนสูญเสียอิสรภาพ บางคนสูญเสียครอบครัว คนรัก บางคนพลัดบ้านพลัดเมือง แม้แต่งานศพของผู้บังเกิดเกล้ายังกลับมาร่วมไม่ได้ ฯลฯ ทั้งที่พวกเขาคิดหวังดีต่อประเทศชาติและประชาชนแท้ ๆ
พอเราออกมา (จากเรือนจำ) ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังแรงใช่ไหม มีการใช้คำว่า เก็บขยะสังคม เพื่อนเราเองมันบอก ดาอย่ามาอีกนะ เดี๋ยวคนจะมองว่าฉันเกี่ยวข้อง เพราะเธอโดนคดี 112 นี่คือเพื่อนสนิทนะ หลาย ๆ คนนะ ที่คบกันมา 20 ปี
เราเคยนอนห้องละหกสิบกว่าคน มาเช่าห้องอยู่นอนคนเดียว เชื่อไหมพี่ต้องเปิดไฟนอน เพราะเราไม่เคยนอนปิดไฟตอนอยู่ในเรือนจำ ...มันเหงานะเพราะเราไม่เคยอยู่คนเดียว ทั้งกลางวันและกลางคืน 67-68 คนในห้อง ให้มานอนคนเดียวมันเคว้ง ๆ หลายคนที่ออกมาปรับตัวนาน คือสุขภาพจิตเสียไป
เราคิดตั้งแต่ตอนที่ออกจากเรือนจำ เรารู้เลยว่าถ้ามันยังไม่สุกงอม อย่าทำ เหมือนกับของเรา
เราโยนไม้ขีดไฟเข้าไปในป่าที่มันยังเปียกน้ำ สุดท้ายไฟก็ไม่ลุก สุดท้ายก็เจ็บตัวฟรี เพราะเรามองสถานการณ์ผิดพลาด
ถ้าเราโยนก้านไม้ขีดเข้าไปในกองเพลิง มันก็จะจุดติดแล้วก็ลุกลาม ฉะนั้น การประเมินสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
7 พฤษภาคม 2563 ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
ไม่มีการไว้อาลัยใดที่จะมีคุณค่าหรือว่าสำคัญไปกว่าการแสดงความเคารพในสิ่งที่คุณดาได้คิด พูด และกระทำมา และอาศัยเส้นทางที่เธอได้บุกเบิกแผ้วถางไว้ในการเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มจัดจ้าขึ้นทุกขณะ และระยะทางที่จะถึงปลายอุโมงค์เริ่มหดสั้นเข้ามา
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
ขอใช้ชื่อบัญชีนี้ว่า "กองทุน ดา ตอร์ปิโด" เพื่อรำลึกถึงและสืบสานอุดมการณ์การต่อสู้ของ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ถูกคุมขังนานถึง 8 ปี ด้วยความผิดฐานละเมิด ม.112 และต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมอันเลวร้ายตลอดช่วงเวลานั้น
ปัจจุบันกองทุน ดา ตอร์ปิโด ได้ดำเนินการช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในเรือนจำด้วยการซื้ออาหาร ของใช้ส่งให้อย่างต่อเนื่อง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปตลอดกาล
จากคนธรรมดาที่มีความเชื่อ ความฝัน เป็นคนสำคัญของครอบครัวและเพื่อนพ้อง คนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตา คนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยทางความคิดของสังคมไทย