คุณเหมือนเขาที่ตกหลุมรักสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ความซับซ้อนที่มาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ดึงดูดใจให้คุณย้อนกลับมาสนใจผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในชีวิตอยู่เสมอ คุณอาจเหมือนเขาที่เป็นคนพบความโรแมนติกในความเงียบ แค่เครื่องดื่มดี ๆ กับคนรักก็สามารถเป็นช่วงเวลาน่าจดจำสำหรับคุณได้แล้ว จอร์จเหมือนคุณ และจอร์จรู้ว่า 112 อันตรายยังไง เขาเหมือนคุณ แต่เขาเลือกเส้นทางที่ต่างจากคุณ
ผมเป็นคนสงขลา ครอบครัวรับราชการกันมาหลายรุ่นมาก ๆ จนมาถึงรุ่นผมก็อยากรับราชการเหมือนกัน เพราะได้เห็นมาตลอดว่ามันมีสิทธิประโยชน์มากกว่าคนอื่น
ผมสอบติดโรงเรียนมัธยมปลายประจำจังหวัด มีรุ่นพี่คนหนึ่ง คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเยี่ยมโรงเรียนบ่อยมาก ผมเป็นประธานนักเรียนเลยได้สัมผัสใกล้ชิด ตอนนั้นรู้สึกว่าการเป็นผู้มีอำนาจมันเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ชี้เป็นชี้ตายได้
ผมชอบอ่านหนังสือ อ่านทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวานะครับ ทั้งหนังสืองานศพของสมาชิกราชวงศ์ในอดีต* หนังสือของ*จิตร ภูมิศักดิ์ จอร์จ ออร์เวลล์ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ ชอบวรรณกรรมฝรั่งเศส ซาดิก ก็องดิดด์ อ่านแล้วรู้สึกว่ามีคนฟุ้ง ๆ เหมือนกับเรา
ห้องสมุดโรงเรียนของผมมีหนังสือทุกแนว เรื่องคดีมาตรา 112 ก็รู้จักตอน ม.4 เจอหนังสือห้องเช่าหมายเลข 112 ของ iLaw ก็เปิดอ่านดู
ผมเป็นคนชอบสรรหาคาเฟ่ บรรยากาศดี ๆ สบาย ๆ หยิบหนังสือเล่มโปรดที่เราสนใจมานั่งอ่าน บางครั้งชวนเพื่อนมานั่งคุยกัน ไม่ก็หาพื้นที่สงบ ๆ เงียบ ๆ อยู่กับแฟน
ผมชอบดื่มชากุหลาบใส่นม เพราะรสชาติมันซับซ้อนเหมือนความรู้สึกมนุษย์ เรากินไปคำหนึ่งมันหวาน อีกคำมันหอม อีกคำทำไมมันจืด ชอบกลิ่นหอมของมัน เหมือนภาพความสว่าง ความหวังที่เราสัมผัสได้
ตอนผมอยู่ชั้น ม.6 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเดินทางมาจังหวัดสงขลา ผมรู้ข่าวว่าพี่น้องชาวจะนะเดินขบวนมาประท้วงกันก็เลยไปแอบกระโดดรั้วโรงเรียนหนีไปดูด้วย แต่เข้าไปดูใกล้ ๆ ไม่ได้
ผมจึงกลับบ้านก่อนที่พี่น้องจะนะจะเดินมาถึง ตกเย็นเปิดเฟซบุ๊กดูก็ได้เห็นว่ามีสลายการชุมนุม ใช้กำลังทุบตีชาวบ้าน แต่ไม่มีออกข่าวสื่อกระแสหลักเลย
เรากลับมาทบทวนตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการมันคือการเปลี่ยนแปลง หรือต้องการอำนาจให้ตัวเองกันแน่
ตอนอยู่ภาคใต้สังคมรอบข้างมันบีบให้เราคิด ให้เราเชื่อแบบนั้นมา 18-19 ปี เรามาอยู่ที่ลำปางได้ 2-3 ปี สิ่งที่เรียนรู้มาจากภาคใต้แทบไม่หลงเหลือเลย ผมเปลี่ยนความคิดไปเยอะมาก ความเชื่อ อุดมคติ
ทั้งที่ก็อ่านหนังสือไม่ต่างกัน แต่**สังคมที่อยู่มันเปลี่ยนคนได้จริงๆ ** การได้อยู่ในสังคมที่ตรงกับสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรามอง ทำให้ความกล้าหาญของเรา ความอยากลุกขึ้นมาต่อสู้มันมากขึ้น
18 มกราคม 2564
ตำรวจ สภ.เมืองลำปาง นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง และบ้านพักของนักศึกษา 2 ราย ตรวจยึดแผ่นป้ายไวนิล ถังสี ขวดน้ำพลาสติกตัดครึ่งที่ใช้ผสมสี แปรงทาสี และเชือกฟางเป็นของกลาง และส่งหมายเรียกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแขวนป้ายผ้าที่แขวนบนสะพานรัษฏาภิเษก จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
เหตุการณ์ในวันนั้น ตำรวจลุแก่อำนาจพอสมควร วันนั้นในหมายค้นระบุเลขที่อาคารผิด เขาแจ้งแค่ว่า มีหมายค้นว่า ‘พินิจ ทองคำ’ ก็คือชื่อของผม แต่เขาก็ใช้อภิสิทธิ์ในการเข้ามาเลย อาคารมีสามชั้น ตำรวจเดินขึ้นไปถึงชั้นสอง ทั้งที่เราพยายามตักเตือนเขาแล้ว บอกเขาแล้ว เขาก็ไม่ฟัง
ทุกคนรู้ว่าผมไม่กลัว เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังโทษตัวเองอยู่ที่ทำให้แฟนของผมโดนคดีมาตรา 112 ไปด้วย
วันนั้นผมร้องไห้เลย คนอื่นอาจจะมองว่าอ่อนแอ แต่มันคือน้ำตาแห่งการต่อสู้นะ เพราะผมร้องไห้ต่อหน้าคนอื่นยากมาก แต่ร้องไห้คนเดียวบ่อย ๆ (หัวเราะ)
มันเป็นเรื่องที่ควรจะแสดงความคิดเห็นได้ แต่เขาเอากฎหมายมาปิดปากเรา ผมรู้สึกผิดมาก ๆ ที่ทำให้คนอื่นลำบากไปด้วย เพราะการรับรู้เรื่องการเมืองในต่างจังหวัดมันไม่เหมือนในกรุงเทพฯ พอเกิดคดีแบบนี้ขึ้น ก็ทำให้ในพื้นที่เกิดความกลัวขึ้นมา ทั้งที่ประโยคที่เขียนมันคือความจริง
การออกมาเคลื่อนไหวมันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง การได้เห็นว่าประชาชนมีเสรีภาพในการคิด มีเสรีภาพในการพูด มีเสรีภาพในการกระทำ มันเป็นความสุขของเราเหมือนกันนะ
การต่อสู้กับอำนาจมันมีอะไรต้องแลก ผมแลกสิ่งที่ยอมรับได้ เราก็สู้เท่าที่เราสู้ได้ต่อไป
ผมเป็นคนค่อนข้างฟุ้ง ๆ คิดอะไรอยู่คนเดียวเยอะ เวลาขับรถรู้สึกเหมือนเรายังเป็นมนุษย์อยู่
การที่เราได้ขับรถออกไปหรือการที่เราเคลื่อนไหวไป มันเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งที่ย้ำเตือนว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่นะ เรายังมีความรู้สึกอยู่นะ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปตลอดกาล
จากคนธรรมดาที่มีความเชื่อ ความฝัน เป็นคนสำคัญของครอบครัวและเพื่อนพ้อง คนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตา คนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยทางความคิดของสังคมไทย