อาจมีเหตุการณ์หรือใครสักคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วทำให้คุณกลายเป็นคุณที่ไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนไปของความคิดหรือการกระทำทำให้เท้าของคุณต้องก้าวเดินออกมาจากพื้นที่ที่คุณเคยอยู่โดยอัตโนมัติ คุณอาจตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นและทั้งหมดนั่นก็กลายเป็นตัวตนใหม่ของคุณในทุกวันนี้ และไม่ว่าคุณจะเป็นอย่างไรก็ตามครอบครัวของคุณจะเป็นแหล่งกำลังใจให้คุณอยู่เสมอ การได้เจอหน้าพูดคุยกับพวกเขาคือสิ่งที่ทำให้คุณสามารถมีรอยยิ้มได้ในทุก ๆ วัน ตูนเองก็เป็นเหมือนคุณเช่นกัน และเธอคงยังได้ใช้ชีวิตแบบคุณได้ต่อไป หากวันหนึ่งเธอไม่ได้ถูกเรียกว่า ‘ผู้ต้องหาคดี 112’
ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรแบบนี้นะ เราเต้นคัฟเวอร์ ไปแข่งดูนก สนุกมาก คือโตมาในกรอบสุด ๆ
โตมาในบ้านที่เป็นเสื้อเหลือง ช่วงปี 53 มีม็อบเสื้อเหลือง การเป็นเสื้อแดงมันไม่คูล บ้านเราเป็นเสื้อเหลืองหมด พ่อเคยพาเราโดดเรียนแล้วไปม็อบเสื้อเหลืองด้วย
ตอนครูสังคมที่โรงเรียนบอกว่าถ้ามีใครจะประทุษร้ายพระเจ้าอยู่หัว เขาก็จะเอาตัวไปบังแทนได้ ตอนนั้นทุกคนในห้องรวมถึงเราก็น้ำตาคลอ
จุดเปลี่ยนจุดแรกคือตอนที่เราไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา การได้เห็นว่าทุกคนเขาอยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด มันรู้สึกว่าเราได้เสรีภาพมากกว่าตอนอยู่ไทย
จุดเปลี่ยนที่สองก็คือตอนเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พอเข้ามหาลัย มันเป็นอีกแบบ อาจารย์จะโยนคำถามมา แล้วให้เราไปหาเอง มันทำให้เราได้ไปหาอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน
หลังจากนั้นก็เริ่มเข้ากิจกรรมมาตลอด ได้เข้าร่วมกลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน จัดกิจกรรมเรียกร้อง
เช่น ตอนงานฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ เราก็ทำกิจกรรมชูป้าย Free Somyot ที่โดนจำคุกเพราะ 112 หรือเรียกร้องให้อากงในงานบอลกับกลุ่มจากธรรมศาสตร์อย่างโรม รังสิมันต์
ทั้งที่ตอนนั้นคนยังไม่รู้เลยว่า 112 คืออะไร สมยศคือใคร
กระทั่งเรียนจบก็ก่อตั้งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ขึ้นมาแล้วก็ทำกิจกรรมมาตลอด จนโดนจับครั้งแรกตอนที่จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2558
ตอนนั้นเรากลัวมากแต่ความกลัวครั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้เราอยากหยุดทำกิจกรรมการเมือง มันเหมือนว่าการเข้ามาตรงนี้ก็ทำให้เราไม่มีเพื่อนในรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำเราจะไม่มีเพื่อนอีกเลย และที่สำคัญคือเรามาไกลมากเกินกว่าจะกลับไป
16 มกราคม 2561
ชนกนันท์ได้รับหมายเรียกจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของ BBC ไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2559 มีคนแชร์บทความดังกล่าวจำนวนมากแต่มีเพียงเธอกับ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี
ตอนแชร์บทความก็ไม่ได้คิดว่าจะโดนหรอกเพราะคนอื่นก็แชร์ตั้งมาก แต่พอเราแชร์เท่านั้นแหละ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ปกติไม่เคยแชทมาหาเราก็ทักมาว่าให้ลบดีกว่า แต่เราก็ไม่ลบเพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร
กระทั่งบ่ายสองวันที่ 16 มกราคม 2561 เราตื่นมาเจอแฟนทำกับข้าวให้กินและลงมาเจอพ่อกับแม่เหมือนทุกวัน แต่วันนั้นมีใบให้เราไปรับของที่ไปรษณีย์
ตอนแรกเราคิดว่าเป็นหมายนัดศาลทหารคดีราชภักดิ์ แต่พออ่านดี ๆ ก็อึ้งว่าเราโดน 112 จากอะไร ระหว่างขับรถกลับบ้านก็พูดอะไรไม่ออก เรามีทางเลือกแค่สู้คดี ติดคุก ลี้ภัย
เรามีเวลาไม่ถึง 30 นาทีในการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไป มันยากตรงที่ไปครั้งนี้เราคงไม่ได้กลับมาแล้ว เราตัดสินใจลงไปบอกพ่อกับแม่ ทุกคนช็อก แต่ก็เห็นด้วย ไม่มีใครอยากให้เราติดคุก 5 ปี จากการโพสต์แชร์ข่าว BBC
พ่อสูบบุหรี่มวนต่อมวน กินเบียร์ไปเยอะมาก เขาเป็นห่วงว่าเราจะไปอยู่มุมไหนของโลก จะอยู่ยังไง จะใช้ชีวิตยังไง
แม่ถามว่าไปครั้งนี้คือไม่ได้กลับแล้วใช่ไหม เราตอบว่า ใช่ แล้วก็ร้องไห้ แม่ก็เหมือนร้องไห้ไปด้วย ทั้งที่แม่ไม่ค่อยแสดงออกว่าเป็นห่วงเวลาไปต่างประเทศนานๆ คงเพราะครั้งนี้มันแปลก มันฟังดูห่างไกล มันฟังดูเหงามาก ๆ
เรามีเวลาไม่กี่ชั่วโมงในการบอกลาเพื่อนสนิทไม่กี่คน ทุกคนมีอาการเดียวกันคือ ช็อก อึ้ง พูดไม่ออก เราก็เหมือนกัน
มาถึงที่นี่ (เกาหลีใต้) วันแรก เราเอาแต่ร้องไห้ เพราะหนทางมันมืดแปดด้าน ไม่รู้จะจัดการยังไง เอาแต่ตั้งคำถามว่าคิดถูกแล้วใช่ไหมที่เลือกจะลี้ภัย หรือกลับไปติดคุกแล้วออกมาเจอบ้าน เจอครอบครัว เจอเพื่อนเหมือนเดิมดี แต่ได้คำตอบว่ามันถอยไม่ได้
ตั้งแต่ตอนนั้นเวลามีคนถามว่าเรารู้สึกยังไง เราก็ตอบไม่ถูกเพราะมันหลากหลายมาก เราทั้งหงุดหงิด โกรธ โมโห เสียใจ คับแค้นใจ อึดอัด และผิดหวังมาก ๆ กับหลายคน หลายอย่างที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีหวังก็สิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเหมือนกัน
ตอนแรก ๆ ที่ร้องไห้คือมันยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย เรายังไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้ (2564) เราไม่ได้ร้องไห้ทุกวันแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ชีวิตได้ง่าย เพราะคนเกาหลีไม่เป็นมิตรกับคนต่างชาติและ LGBTQ+
เราไม่ได้อยากมานี่ตั้งแต่แรก แต่มันมีพาสปอร์ตเลยต้องมา เราว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมในการลี้ภัย ชีวิตมันไม่ได้สวยหรูแบบที่ผู้ลี้ภัยคนอื่นพูด
3 ปีที่ลี้ภัยผ่านมาคือมันก็ยาก ช่วงปีแรกเนอะ เพราะปีแรกก็เป็นปีที่เราเพิ่งมา บ้านเมือง ภาษา ปรับตัวทุกอย่างค่ะ ปีแรกเราให้เป็นปีของการต้องทำยังไงก็ได้ให้ได้สถานะอย่างเดียวเลย
ถ้าตอนนี้เราไม่ได้อยู่นี่เราก็คงจะเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิม ไม่เคยคิดว่าจะมาทำงานที่ต่างประเทศ การโดน 112 มันทำให้เราเสียอะไรไปหลายอย่างมาก เสียโอกาสในการทำงานราชการ เสียโอกาสในการทำงานด้านการต่างประเทศ ฯลฯ
แต่ถ้าย้อนกลับไปเราก็ยังจะเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิม จะทำทุกอย่างแบบเดิม เพราะมันทำให้เราได้เจอผู้คน ได้เปิดโลก ได้โตเป็นผู้ใหญ่มาก ๆ และเราอยากให้ทุกคนได้รู้ ได้เข้าใจถึงสิ่งที่เราอยากสื่อสารว่ารัฐบาลไทยปิดบังอะไรคนไทยไว้บ้าง
จริง ๆ เราหวังว่าเราจะได้กลับบ้านก่อนจะหมดอายุความ ณ ปัจจุบันนี้เราสามารถกลับไทยได้ก็ต่อเมื่อ 15 ปีผ่านไป
แต่เรายังมีความหวังว่าเราสามารถกลับได้ก่อนหน้านั้น ประเทศเราจะเปลี่ยนก่อน 15 ปี
อย่างตอนนี้เราดีใจมากที่ทุกคนออกมาเรียกร้อง เมื่อเทียบกับตอนที่เราออกมาซึ่งมันเป็นชนกลุ่มน้อยมาก ๆ ในสังคม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปตลอดกาล
จากคนธรรมดาที่มีความเชื่อ ความฝัน เป็นคนสำคัญของครอบครัวและเพื่อนพ้อง คนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตา คนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยทางความคิดของสังคมไทย