เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบขับรถไปเรื่อย ๆ บนถนนที่ทอดยาวโดยไม่สนใจปลายทางมากนัก การได้ใช้เวลาบนที่นั่งหลังพวงมาลัยรถอาจเป็นสิ่งที่สร้างพื้นที่แห่งความสบายใจให้คุณอย่างอธิบายไม่ถูก และการไปพักต่างถิ่น ได้พบเห็นและใช้ชีวิตกับคนแปลกหน้าที่กลายเป็นเพื่อนคุณในภายหลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณอยู่เป็นประจำ สมยศเองก็เหมือนคุณเช่นกัน และเขาคงยังได้ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคุณ หากวันหนึ่งเขาไม่ได้ถูกเรียกว่า ‘นักโทษคดี 112’
เขาทำงานสายแรงงานเป็น activist ตั้งแต่สมัยเรียน หลังจาก 6 ตุลา 2519 อีก 3-4 ปี เขาก็ไปทำงานที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ตอนนั้นแรงงานที่ถูกกดขี่มาก ๆ เป็นแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ แกก็เข้าไปทำงานกับคนงาน จัดการศึกษาในเรื่องของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เรื่องการเจรจาต่อรอง
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข อดีตภรรยาของสมยศ
คนชอบว่าแกได้เงินเยอะ แต่เคสที่เกิดขึ้นกับเรา เราเป็นคนดูเรื่องเงิน แกไม่เคยได้ พอคนงานได้ค่าชดเชย คนงานจะซื้อทองให้บาทนึง ก็ยังไม่รับ เขาย้ำตลอดว่าเราไม่ควรต่อสู้เฉพาะเรื่องแรงงาน ควรต่อสู้ทางสังคมในเรื่องอื่น ๆ ที่กระทบกับประชาชนโดยรวมด้วย เพื่อให้สังคมมันดีขึ้น
เยาวภา ดอนสี เจ้าหน้าที่สหพันธ์แรงงานฯ
น้องไท (ลูกชาย) เกิดมาได้เดือนแรก เป็นช่วงรัฐประหารโดย รสช. ใหม่ ๆ ผมก็อุ้มไปเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต้องการให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 90 วัน เพราะสมัยนั้นแฟนทำงานเป็นพยาบาล ลาคลอดได้แค่ 30 วัน หลังจากนั้นผมก็ต้องเลี้ยงเอง แล้วทำงานไปด้วย มันเหนื่อยมาก
เราไม่ได้สนิทกับพ่อขนาดนั้น อาจจะถึงขั้นห่างเหิน แม่เองก็เป็นคนที่ทำงานหนัก ด้วยความที่เราก็เป็นนักเรียน ตารางชีวิตคือตื่นนอนไปเรียน กลับมาเข้านอนราว 3–4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อกลับบ้าน ทำให้เราไม่ค่อยได้เจอกันเลย ไม่มีเวลากินข้าวเย็นด้วยกัน ต้องเป็นช่วงปิดเทอมที่พอจะหาเวลาไปกินอะไรกันทั้งครอบครัว
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ลูกสาวของสมยศ
ระหว่างปี 2535-2548 ผมเดินทางรอนแรมไปพำนักอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา ได้มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ มีชีวิตที่ทุกข์ยากแสนสาหัส อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ผมได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เคียงบ่า เคียงไหล่กับคนทุกข์ยากเหล่านี้ในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม
30 เมษายน 2554
สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ขณะกำลังเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น ในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเขาเพิ่งมาเป็นบรรณาธิการเมื่อปี 2553
ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน ผมจึงไม่หลบหนีไปไหน
จนกระทั่งผมนำคณะท่องเที่ยวไปกัมพูชา ผมจึงถูกจับกุม ผมไม่ได้ขัดขืนหรือตระหนกตกใจ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องถูกใส่กุญแจมือ ถูกนำไปขังไว้ที่ห้องขังกองปราบปราม ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะกรัง กลิ่นเหม็นอับด้วยคราบสกปรกของห้องน้ำที่น่าขยะแขยง ผมล้มตัวลงนอนด้วยความอ่อนเพลีย
ผมเข้าไปอยากได้ข้อมูลคดีเขา แต่เขาอยากให้ช่วยรณรงค์เรื่องสิทธินักโทษ เวลาที่เจอเขาในเรือนจำ เขาจะไม่พูดเรื่องตัวเอง ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องสิทธินักโทษ ที่ไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร ต้องใช้ผ้าสามผืนเป็นผ้าห่ม เขาจะพูดเรื่องนี้ตลอด สิทธิของคนอื่น สิ่งที่นักโทษควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ผมใช้เวลาทั้งหมดที่เหลือในคุกเพื่อทบทวนประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา ทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้น เวลาใครมาเยี่ยมจะให้ของฝาก ผมบอกว่าไม่เอาของกิน ขอเป็นหนังสือแทน ห้องสมุดที่ผมดูแลอยู่มีหนังสือประมาณสองหมื่นเล่ม ครึ่งหนึ่งมาจากคนที่มาเยี่ยม
ออกจากคุกมา ผมถามตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในปัจจุบันนี้ ผมเดินเข้าคุกตอนที่เป็นไทยแลนด์ 2.0 ตอนนี้เขาประกาศเป็นไทยแลนด์ 4.0 เราจะทำยังไงดี ...
การปรับตัวช่วงแรกนี่ก็นานมาก เป็นภาวะที่เรียกว่าเจ็บปวดหัวใจแล้วก็ว่างเปล่า ไม่รู้จะอธิบายยังไง ขับรถออกไปปุ๊บ นึกออก ขับรถกลับมา เพื่อที่จะดูว่าตากผ้าหรือเปล่า เพราะว่าอยู่ในคุกมันต้องเฝ้า เรารับจ้างซักผ้าให้เขา มันต้องไม่หาย ก็ต้องคอยเดิน คอยเฝ้า
ทุกวันนี้ผมติดผัดมาม่า ในคุกนี่เป็นอาหารชั้นเลิศเลยนะ
ผมมีความห่วงใยคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นสังคมก้าวหน้า อยากเห็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นคนเท่าเทียม แล้วผมจะอยู่เฉยได้ยังไง เพราะผมไม่ได้เป็นคนที่โดดเดี่ยวออกจากสังคม ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปตลอดกาล
จากคนธรรมดาที่มีความเชื่อ ความฝัน เป็นคนสำคัญของครอบครัวและเพื่อนพ้อง คนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตา คนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยทางความคิดของสังคมไทย